ข้อดีของการสื่อสารระบบ Fiber Optic

ข้อดีของการสื่อสารระบบ Fiber Optic

     1) ช่วงการส่งสัญญาณ (Bandwidth) กว้าง เนื่องจากความถี่ของแสงสูงมาก ทำให้ใช้ Bandwidth ได้กว้างและสามารถส่งข้อมูลได้ด้วยอัตราส่งสูง ในทางทฤษฎีอาจได้ถึง 1014 bps ในปัจจุบันเส้นใยนำแสงสามารถใช้ส่งข้อมูลได้ประมาณ 1,000 Mbps ในระยะทาง 1 กิโลเมตร ทั้งนี้เนื่องจากเวลาตอบสนองของโฟโต้ไดโอดต่อแสงใช้เวลา 10-9 วินาที ปกติแล้วเส้นใยนำแสงสามารถใช้ส่งข้อมูลเสียงได้พร้อม ๆ กัน 30,000 ช่องสัญญาณและเนื่องจากอัตราการส่งข้อมูลสูงจึงเหมาะสำหรับใช้ส่งข้อมูลเสียง ภาพ และข้อมูลดิจิตอลจากคอมพิวเตอร์ไปพร้อม ๆ กันในระบบ ISDN (Integrated Services Digital Network)

     2) ไม่มีการเหนี่ยวนำจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เนื่องจากสาย Fiber Optic ทำจากแก้วพวกซิลิกาซึ่งมีคุณสมบัติไม่เป็นตัวนำไฟฟ้า ดังนั้นจึงไม่เกิดการเหนี่ยวนำทางแม่เหล็กไฟฟ้าจากภายนอก เช่น ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฟ้าฝ่าสายไฟแรงสูง คลื่นโทรทัศน์ คลื่นวิทยุ เป็นต้น และเส้นใยนำแสงเป็นสารอโลหะ จึงไม่ถูกรบกาวนจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือสัญญาณวิทยุ ตลอดจนการสปาร์ก (sparks) ทางไฟฟ้า ดังนั้นความผิดพลาดจะต่ำกว่า10-9 ในขณะที่สายทองแดงมีอัตราความผิดพลาดประมาณ 10-6

     3) อัตราการสูญเสียในการรับ-ส่งสัญญาณต่ำ การสูญเสียในสาย Fiber Optic ในปัจจุบันค่าต่ำที่สุด คือ 0.2 db/Km (Coaxial Line หรือ สายลวดทองแดง การสูญเสียต่ำสุด 1 dB/Km)

     4) เพิ่มระยะห่างของสถานีทวนสัญญาณ ระยะห่างระหว่างสถานีทวนสัญญาณ (Repeater) จะเพิ่มมากขึ้นเพราะมีอัตราการสูญเสียในสาย Fiber Optic ต่ำ เนื่องจากการสูญเสียกำลังส่งของสัญญาณ (Signal loss) ในเส้นใยนำแสงมีน้อยกว่าสายทองแดงและสายโคแอกเชียลมาก ดังนั้นจึงอาจใช้รีพีตเตอร์เพื่อทวนสัญญาณใหม่ในระยะทางที่ห่างกันได้ถึง 20-30 ไมล์ ในขณะที่สายทองแดงต้องใช้รีพีตเตอร์ทุก ๆ 2.8 ไมล์ ในการส่งสัญญาณแบบดิจิตอล

     5) จำนวนของสัญญาณในการรับ-ส่งมีมาก เนื่องจากในสาย Fiber Optic เพียงเส้นเดียว สามารถบรรจุช่องการสื่อสารได้เป็นจำนวนมาก จึงสามรถรับ-ส่งสัญญาณภาพ เสียง และข้อมูล (Computer Network) โดยแยกให้เห็นชัดเจนได้ คือโทรศัพท์, ข้อมูล (Computer, Radar Data), เคเบิ้ลทีวี, วิดิทัศน์ (Video Conference:เป็นการประชุมระยะไกลที่ต้องส่งสัญญาณภาพและสัญญาณเสียงได้พร้อมกัน)

     6) ขนาดของสาย Fiber Optic มีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา เส้นผ่าศูนย์กลางของสาย Fiber Optic มีขนาดเพียง 250 ไมครอน เท่านั้น ดังนั้นภายในสายเคเบิล 1 สาย จึงประกอบด้วย Fiber Optic จำนวนมากตัวอย่างเช่น ในสายเคเบิลประกอบด้วยสาย Fiber Optic จำนวน 12 เส้น มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียง 0.49 นิ้วเท่านั้น สายเคเบิลของเส้นใยนำแสงมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา ทำให้สิ้นเปลืองเนื้อที่การวางสายและติดตั้งน้อยเพื่อวางสายน้อย

     7) ไม่มีขีดจำกัดเรื่องการใช้ความถี่วิทยุ การใช้ความถี่วิทยุซึ่งเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่แพร่กระจายในอากาศและต้องได้รับการจัดสรรและควบคุมจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งปัจจุบันความถี่วิทยุที่ได้รับการจัดสรรเหลือน้อยแต่การสื่อสารแบบ Fiber Optic เป็นการสื่อสารโดยใช้สัญญาณแสงผ่านทาง Fiber Optic ซึ่งเป็นสาย Cable จึงไม่ต้องขออนุญาต

     8) ความปลอดภัย (Security) สูง ในทางจารกรรมข้อมูล จะทำได้เพียงวิธีเดียว คือ การต่อเชื่อมสาย Fiber Optic เท่านั้น ซึ่งในทางปฏิบัติไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากทางด้านการส่งสัญญาณจะตรวจพบในทันทีว่ามีการสูญเสียของสัญญาณเกิดขึ้น นอกจากนี้จะไม่ถูกรบกวน (Jamming) จากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า

     9) อายุการใช้งาน ระบบ Fiber Optic มีอายุการใช้งานนานถึง 25 ปี ในขณะที่ระบบไมโครเวฟและดาวเทียมมีอายุการใช้งานประมาณ 15 ปี 

(แหล่งที่มาของข้อมูล http://ee.swu.ac.th/E-learning%20Fiber%20Optic/images/theory%20fiber%20optic/ระบบสื่อสารเส้นใยแก้วนำแสง.pdf)

Visitors: 145,533